วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2561

กรณีเตโชวิปัสสนา ตอนที่ ๒ เรื่อง เตโชวิปัสสนาเป็นสติปัฏฐานหรือไม่


ในครั้งนี้ข้าพเจ้าจะขออธิบายเพิ่มเติมจากถ้อยแถลงของสำนักเตโชวิปัสสนา ซึ่งได้อธิบายวิชาที่ตนฝึกไว้ว่า “เตโชวิปัสสนากรรมฐาน คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามหลักสติปัฏฐานสี่” (ถ้อยแถลง.(ม.ป.ป.)สืบค้นเมื่อ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๑, จากhttp://techovipassana.org)

ข้าพเจ้าจึงขออธิบายในเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ที่กล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ว่าคืออะไร ประกอบด้วยอะไร และปฏิบัติอย่างไร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ ในมหาสติปัฏฐานสูตรไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่ง พระนิพพานหนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ”
(ที.มหา.๑๐/๒๑๖/๒๗๓)

สติปัฏฐานนี้ แบ่งออกได้เป็น ๔ หมวดคือ
๑.กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
๒.เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่
๓.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
๔.ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่

๑.นอกจากนี้พระพุทธเจ้าทรงจำแนกแต่ละหมวดของสติปัฏฐานไปอีก ๑๓ บรรพได้แก่

๑.๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๖ บรรพได้แก่
อานาปานบรรพ , อิริยาปถบรรพ ,สัมปชัญญบรรพ ,ปฏิกูลมนสิการบรรพ , ธาตุมนสิการบรรพ และ นวสีวถิกาบรรพ

๑.๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าทรงไม่จำแนกบรรพ (สงเคราะห์เป็น ๑ บรรพ)

๑.๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าทรงไม่จำแนกบรรพ (สงเคราะห์เป็น ๑ บรรพ)

๑.๔ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๕ บรรพ ได้แก่ นีวรณบรรพ , ขันธบรรพ , อายตบรรพ , โพชฌงคบรรพ และ สัจจบรรพ

๒.อรรถกถาอภิธัมมัตถสังคหะ ได้จำแนกแต่ละบรรพโดยละเอียดเป็น ๔๔ บรรพ

๒.๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๔ ปัพพะ ได้แก่
๒.๑.๑ อานาปานบรรพ (อานาปานปัพพะ) ว่าด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก
๒.๑.๒ อิริยาปถบรรพ (อิริยาบถปัพพะ) ว่าด้วยการกำหนดอิริยาบถ ๔ กล่าวคือ นั่ง นอน ยืน และ เดิน
๒.๑.๓ สัมปชัญญบรรพ (สัมปชัญญปัพพะ) ว่าด้วยการกำหนดอิริยาบถย่อย ๗ ประการ กล่าวคือ
(๑) ก้าวไปข้างหน้า, ถอยกลับมาข้างหลัง
(๒) แลไปข้างหน้า, เหลียวไปข้างซ้ายและขวา
(๓) คู้แขนเข้า และ เหยียดแขนออก
(๔) กิริยาที่ใช้บาตร, จีวร, สังฆาฏิ
(๕) การเคี้ยว, การดื่ม, การเลีย
(๖) การถ่ายอุจจาระ และ ปัสสาวะ
(๗) การขยับเดิน, ยืน, นั่ง, นอน, จะหลับ ตื่น,นิ่ง, พูด
๒.๑.๔ ปฏิกูลมนสิการบรรพ (สัมปชัญญปัพพะ) ว่าด้วยการพิจารณาอาการ ๓๒ มีผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง เป็นต้น
๒.๑.๕ ธาตุมนสิการบรรพ (ธาตุปัพพะ) ว่าด้วยการพิจารณาลักษณะของธาตุ ๔ มีดิน, นำ้, ไฟ, ลม
(นวสีวถิกาบรรพ (อรรถกถาจารย์ได้จำแนกเพิ่มเพิ่มเป็นอสุภปัพพะ ๙ บรรพ)
๒.๑.๖ อสุภปัพพะ ว่าด้วยการพิจารณาศพที่ตายแล้ว ๒-๓ วัน
๒.๑.๗ อสุภปัพพะ ว่าด้วยการพิจารณาศพที่สัตว์กำลังกัดกิน
๒.๑.๘ อสุภปัพพะ ว่าด้วยการพิจารณาศพที่มีเนื้อ และเลือดติดอยู่
๒.๑.๙ อสุภปัพพะ ว่าด้วยการพิจารณาศพที่มีแต่เส้นเอ็นรัดอยู่
๒.๑.๑๐ อสุภปัพพะ ว่าด้วยการพิจารณาศพที่มีแต่โครงกระดูกเป็นรูปอยู่
๒.๑.๑๑ อสุภปัพพะ ว่าด้วยการพิจารณาศพที่กระดูกกระจัดกระจาย
๒.๑.๑๒ อสุภปัพพะ ว่าด้วยการพิจารณาศพที่กระดูกเก่าสีขาวเหมือนหอยสังข์
๒.๑.๑๓ อสุภปัพพะ ว่าด้วยการพิจารณาศพที่เก่าถูกฝนชะกระจัดกระจาย
๒.๑.๑๔ อสุภปัพพะ ว่าด้วยการพิจารณาศพที่มีแต่กองกระดูกเป็นผง

๒.๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๙ ปัพพะ
๒.๒.๑ สุขเวทนา
๒.๒.๒ ทุกขเวทนา
๒.๒.๓ อุเบกขาเวทนา
๒.๒.๔ สุขเวทนา เจือด้วยอามิส
๒.๒.๕ ทุกขเวทนา เจือด้วยอามิส
๒.๒.๖ อุเบกขาเวทนา เจือด้วยอามิส
๒.๒.๗ สุขเวทนา ไม่เจือด้วยอามิส
๒.๒.๘ ทุกขเวทนา ไม่เจือด้วยอามิส
๒.๒.๙ อุเบกขาเวทนา ไม่เจือด้วยอามิส
(อามิส หมายถึง เครื่องล่อกล่าวคือกามคุณทั้ง ๕)

๒.๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๖ ปัพพะ
๒.๓.๑ สราคํ จิตมีราคะ
๒.๓.๒ วีตราคํ จิตไม่มีราคะ
๒.๓.๓ สโทสํ จิตมีโทสะ
๒.๓.๔ วีตโทสํ จิตไม่มีโทสะ
๒.๓.๕ สโมหํ จิตมีโมหะ
๒.๓.๖ วีตโมหํ จิตไม่มีโมหะ
๒.๓.๗ สงฺขิตฺตํ จิตมีถีนะ (ธรรมชาติที่ทำให้จิตหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์)
๒.๓.๘ วิกฺขิตฺตํ จิตฟุ้งซ่าน
๒.๓.๙ มหคฺคตํ จิตเป็นรูปาวจร และอรูปาวจร (มหัคคตจิต ๒๗)
๒.๓.๑๐ อมหคฺคตํ จิตไม่เป็นรูปาวจร และอรูปาวจร
(มหัคคตจิต ๒๗)
๒.๓.๑๑ สอุตฺตรํ จิตเป็นกามาวจร (กามาวจรจิต ๔๕)
๒.๓.๑๒ อนุตฺตรํ จิตไม่เป็นกามาวจร (กามาวจรจิต ๔๕)
๒.๓.๑๓ สมาหิตํ จิตเป็นสมาธิ
๒.๓.๑๔ อสมาหิตํ จิตไม่เป็นสมาธิ
๒.๓.๑๕ วิมุตฺตํ จิตที่พ้นจากกิเลส (ปริยุฏฐานกิเลส)
๒.๓.๑๖ อวิมุตฺตํ จิตที่ไม่พ้นจากกิเลส

๒.๔ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๕ ปัพพะ
๒.๔.๑ นีวรณบรรพ (นิวรณปัพพะ) พิจารณานิวรณ์ ๕
๒.๔.๒ ขันธบรรพ (ขันธปัพพะ)  พิจารณาขันธ์ ๕
๒.๔.๓ อายตบรรพ (อายตนปัพพะ) พิจารณาอายตนะ ๑๒
๒.๔.๔ โพชฌงคบรรพ (โพชฌงคปัพพะ) พิจารณาโพชฌงค์ ๗
๒.๔.๕ สัจจบรรพ (สัจจปัพพะ) พิจารณาอริยสัจ ๔

(วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี.(๒๕๕๘).คู่มือการศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะ.กรุงเทพฯ: ม.ป.ท.)

จากที่ข้าพเจ้าได้อธิบายเรื่องสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้ทุกท่านได้ทราบว่าสติปัฏฐาน ๔ สามารถจำแนกแจกแจงออกไปได้ถึง ๑๓ บรรพ จนไปถึง ๔๔ บรรพนั้น การฝึกเตโชวิปัสสนาที่ว่าตามสติปัฏฐาน โดยวิธีการจุดธาตุไฟในกายมาเผากิเลส ตรงกับหลักสติปัฏฐานหมวดใด หรือบรรพใด ?

นักปฏิบัติเตโชวิปัสสนาก็อาจจะตอบว่าเป็นธาตุมนสิการบรรพว่าด้วยการพิจารณาลักษณะของธาตุ ๔ มีดิน, น้ำ, ไฟ, ลม ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ข้าพเจ้าจึงขอตอบว่า ตามมหาสติปัฏฐานสูตรในธาตุมนสิการบรรพว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม” (ที.มหา.๑๐/๒๑๙/๒๗๘)

ดังนั้นการปฏิบัติสติปัฏฐาน ตามธาตุมนสิการบรรพ จึงไม่ใช่การจุดธาตุไฟ โดยการเพ่งไปที่ฝ่ามือ แต่เป็นการพิจารณาให้เห็นว่ากายนี้ประกอบด้วยธาตุดิน  ธาตุน้ำ ธาตุไฟและธาตุลม อีกทั้งอรรถกถาอภิธัมมัตถสังคหะ ก็ไม่ได้จำแนกไว้ว่าสามารถเจริญสติปัฏฐานดังกล่าว สามารถเจริญอย่างใดอย่างหนึ่งหรือธาตุใดธาตุหนึ่งได้ ซึ่งเป็นไปตามพุทธพจน์

มากไปกว่านั้นการเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ หมวด ๔๔ บรรพ ต้องประกอบด้วยองค์ธรรม คือมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ  (อาตาปี สมฺปชาโน สติมา) ซึ่งสำนักเตโชวิปัสสนาเข้าใจคำว่าอาตาปี คลาดเคลื่อนจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา จากการที่ข้าพเจ้าได้แจกแจงวินิจฉัยแล้วในกรณีเตโชวิปัสสนา ตอนที่ ๑ จึงไม่สามารถเกิดสติปัฏฐานขึ้นมาได้เลย เพราะคำว่าอาตาปีของสำนักเตโชวิปัสสนานั้น ไม่ใช่อาตาปีของพระพุทธเจ้า

ดังนั้นเตโชวิปัสสนากรรมฐานจึงไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ ตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตร และ อรรถกถาอภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งขอชี้แจงแต่เพียงเท่านี้

ป.ล. ความเดิมตอนที่แล้วข้าพเจ้าได้อธิบายเรื่ององค์ของสติปัฏฐานสี่ ว่า’อาตาปี’หมายความว่าอย่างไร การที่สำนักเตโชวิปัสสนาตีความอาตาปีเป็นไปตามพระอรรถกถาในพระไตรปิฎกหรือไม่ จึงใคร่ขอให้ทุกท่านที่ยังไม่อ่านสามารถไปอ่านใน https://buddhamkammasarn.blogspot.com/2018/01/blog-post_19.html?m=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น