วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กรณีเตโชวิปัสสนา ตอนที่ 3 อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล ไม่ยึดพระไตรปิฎกแต่ยึดคำพระเถระขึ้นอ้าง

อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล เคยกล่าวไว้ว่า พระพุทธองค์ไม่เคยสอนให้ท่องจำ มีแต่ทรงสอนให้นั่งภาวนาให้ปลีกวิเวก ให้มีอินทรีย์สังวร ให้มีสติรู้วางอุเบกขา พระพุทธองค์ทรงสอนให้ยึดธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่ยึดคำเป็นที่พึ่ง พระไตรปิฎกก็เป็นดุจเข็มทิศชี้ทาง ไม่ใช่ยึดเข็มทิศนั่นว่าเป็นทาง จะถึงทางมันต้องออกเดิน ไม่ใช่นั่งกอดเข็มทิศ

ในลำดับต่อมา หลวงพ่อสงบ กุสลจิตฺโต ได้ออกมาปกป้อง อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล ความว่า ทำถูกต้องแล้วฝากไว้ด้วยนะ อย่ากล่าวหาอาจารย์อ้อยนะ ไอ้เราขี้ยังเต็มหัวใจอยู่เลย ก้างก็ยังเต็มใจอยู่เนี่ย จะมีสิทธิ์อะไรไปกล่าวหาเขาผู้ที่เหลือน้อยๆนะ มันน่าอายนะ


นิตยสารข้ามห่วงมหรรณพกับ อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล.(2561).เค้าก็พูดถูก คนพูดถูก มันก็ถูกน่ะ.สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2561 จาก https://www.facebook.com/5000sMagazine/videos/1376692235808528/


สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือกรณีธรรมกาย (2559,หน้า 36-37) ความว่า

ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสหลักมหาปเทส 4 ไว้ได้แก่ที่อ้างอิงใหญ่หรือหลักใหญ่สำหรับใช้อ้างเพื่อสอบสวนเทียบเคียงเริ่มแต่หมวดแรกที่เป็นชุดใหญ่ซึ่งแยกเป็น



1.พุทธาปเทส (ยกเอาพระพุทธเจ้าขึ้นอ้าง)

2.สังฆาปเทส (ยกเอาสงฆ์ทั้งหมู่ขึ้นอ้าง)

3.สัมพหุลัตเถราปเทส (ยกเอาพระเถระจำนวนมากขึ้นอ้าง)

4.เอกเถราปเทส (ยกเอาพระเถระรูปหนึ่งขึ้นอ้าง)

(ที.ม.10/113/144;องฺ.จตุกฺก.21/180/227)


ทั้ง 4 กรณีนี้เพื่อตรวจสอบในพระสูตรเพื่อเทียบเคียงในวินัยถ้าลงกันสมกันจึงยอมรับกันได้

นอกจากนั้นถ้าเป็นปัญหาหรือข้อสงสัยที่จำกัดลงมาในส่วนพระวินัยก็สามารถใช้หลัก มหาปเทส 4 ชุดที่สองตรวจสอบซึ่งจะไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้เพราะนักวินัยทราบกันดี

เมื่อพิจารณากว้างออกไปโดยครอบคลุมถึงคำสอนรุ่นหลังๆหรือ ลำดับต่อมา ท่านก็มีหลักเกณฑ์ที่จะให้

ความสำคัญในการวินิจฉัยลดหลั่นลงมาโดยวางเกณฑ์วินิจฉัยคำสอนความเชื่อและการปฏิบัติเป็นสี่ขั้นคือ (ที.อ.2/172 ; วินย.อ.1/271 ; วินย.ฎีกา 3/352)

1.สุตตะ ได้แก่ พระไตรปิฎก

2.สุตตานุโลม ได้แก่ มหาปเทส ยอมรับอรรถกถาด้วย

3.อาจาริยวาท ได้แก่ อรรถกถา พ่วง ฎีกา อนุฎีกา ด้วย

4.อัตตโนมติ ได้แก่ มติของบุคคลที่นอกจากสามข้อต้น




สิ่งที่ข้าพเจ้าชี้แจงไว้ข้างต้นนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า ในทางพระพุทธศาสนาได้วางรากฐานการตรวจสอบคำสอนอย่างครบถ้วน การที่ยึดเพียงพระเถระรูปใดรูปหนึ่ง(อัตตโนมติ) เพื่อพิสูจน์ว่าหลักการปฏิบัติของตนถูกต้องนั้น จึงไม่ใช่วิสัยที่เป็นไปได้ 

ในขณะเดียวกัน อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล ปฏิเสธที่จะยึดพระไตรปิฏก หรือ สุตตะ ซึ่งเป็นหลักวินิจฉัยที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งใน (วินย.ฎีกา.2/71) กล่าวไว้ว่า “เพราะว่าเมื่อค้านสุตตะ ก็คือค้านพระพุทธเจ้า

การที่ อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล กล่าวว่า “พระพุทธองค์ไม่เคยสอนให้ท่องจำ” นั้น ขอแก้ว่า
พระพุทธองค์ทรงให้ท่องจำพระไตรปิฏก ซึ่งตรัสไว้ใน (
จตุกฺก.อํ.21/198/160) ความว่า

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนสูตรอันถือกันมาถูก ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้กันถูก ความหมายแห่งบทพยัญชนะที่ใช้กันก็ถูก ย่อมมีนัยอันถูกต้องเช่นนั้น 

ภิกษุทั้งหลาย ! นี่เป็นมูลกรณีที่หนึ่ง ซึ่งทำให้ พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป

การที่ อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล กล่าวว่า พระพุทธองค์ทรงสอนให้ยึดธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่ยึดคำเป็นที่พึ่งแก้ว่า ธรรมนั้น หมายรวม ปริยัติธรรมหมายถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่รวบรวมเป็นบทเรียนคือพระไตรปิฎกด้วย รวมไปถึงกล่าวถึง อินทรีย์สังวร และ สติก็ล้วนนำมาจากพระไตรปิฎกเช่นกัน จึงเป็นการกล่าวที่ย้อนแย้งตัวเอง

และการที่ อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล กล่าวว่า พระพุทธองค์ทรงสอนให้ยึดธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่ยึดคำเป็นที่พึ่ง พระไตรปิฎกก็เป็นดุจเข็มทิศชี้ทาง ไม่ใช่ยึดเข็มทิศนั่นว่าเป็นทาง จะถึงทางมันต้องออกเดิน ไม่ใช่นั่งกอดเข็มทิศใน วิภงฺค.อ.(สมฺโมหวิโนทนี) หน้า ๕๑๔ (มจร.) กล่าวไว้ว่า

แม้ภิกษุผู้มีปัญญาทราม นั่งในท่ามกลางผู้อุปัฏฐากทั้งหลายแล้ว กล่าวอยู่เป็นต้นว่า พวกเราละทิ้งพระปริยัติธรรมแล้ว ด้วยความคิดว่า 'เมื่อเราตรวจดูธรรมสามหมวดที่ทำให้สัตว์เนิ่นช้าในมัชฌิมนิกายอยู่, มรรคนั่นแหละมาแล้วพร้อมด้วยฤทธิ์, ธรรมดาพระปริยัติธรรม เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยไม่ยากสำหรับพวกเรา, แท้จริง การสนใจในพระปริยัติธรรม ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้ดังนี้ ย่อมแสดงความที่ตนเป็นผู้มีปัญญามาก


ก็เมื่อภิกษุกล่าวอยู่อย่างนี้ ย่อมให้การทำลายล้างในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น, ชื่อว่า มหาโจรผู้เช่นกับด้วยภิกษุนี้ ย่อมไม่มี. เพราะว่า บุคคลผู้ทรงพระปริยัติธรรมไว้ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ หามีไม่

ดังนั้นการที่ อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล กล่าวเช่นนี้ถือว่าเป็นการทำลายล้างพระพุทธศาสนาหรือไม่ ?

สุดท้ายนี้ขอยกคำของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ความว่า ใครก็ตามที่กล่าวอ้างตนปฏิบัติได้โดยไม่อาศัยพระไตรปิฎกก็คือพูดว่า ปฏิบัติตนได้โดยไม่ต้องอาศัยพระพุทธเจ้า เราจะเรียกการปฏิบัตินั้นว่าเป็นพระพุทธศาสนาได้อย่างไร แน่นอนว่านั่นเป็นการปฏิบัติลัทธิความเชื่อหรือความคิดของตัวเขาเองหรือของใครอื่น ที่คิดข้อปฏิบัตินั้นขึ้นมา